Thursday, May 26, 2005

Star Wars Episode III : Revenge of the Sith




ในที่สุด George Lucas ก็ปิดท้ายไตรภาคแรกของสงครามอวกาศคลาสสิคแห่งยุค 1970 ลงอย่างหืดขึ้นคอในอีกยี่สิบกว่าปีต่อมา

ฉากจบของ Revenge of the Sith ที่โอบีวัน เคโนบีไปส่งทารกน้อย ลุค สกายวอล์คเกอร์ที่ดาวทาทูอีน ทำให้ระลึกถึงภาคแรกของสตาร์วอร์ (Episode IV : The New Beginning) อย่างช่วยไม่ได้

ปี 1997 Star Wars : The New Beginning น่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ที่ทำให้โลกภาพยนตร์ได้รู้จักบทบาทอันน่าตื่นตาตื่นใจของเทคนิคพิเศษทางด้านภาพและเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังแห่งดนตรีประกอบภาพยนตร์
และถ้าผมจำไม่ผิด ห้วงเวลาดังกล่าว เป็นระยะแรกๆที่มีเครื่องเล่นวิดีโอ VHS ออกมาวางตลาด และได้รับความนิยมมากจนทำให้รายได้จากการฉายภาพยนตร์ลดลงอย่างมาก ซึ่งก็ได้ Star Wars นี่ละ ที่ช่วยทำให้นักดูหนังเต็มใจควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าตั๋ว พร้อมกับเวลาในชีวิตร่วมสองชั่วโมง เข้าไปสู่โลกแห่งสงครามอวกาศที่น่าตื่นตาตื่นใจ
จนถึงกับมีคำกล่าวว่า โรงภาพยนตร์ มีไว้สำหรับฉายภาพยนตร์อย่าง Star Wars ... ลืมการนั่งดูหนังจากเครื่องเล่นวิดีโอที่บ้านของท่านไปได้เลย

ปี 2005 เทคนิคพิเศษต่างๆในกระบวนการผลิตภาพยนตร์เข้ามามีบทบาทมาก มากเสียจน ..สำหรับหนังบางเรื่อง มันสามารถบดบังความโดดเด่นของเนื้อหาสาระ และวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจลงไปได้อย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกัน Star Wars Episode III : Revenge of the Sith ตระการตาด้วยเทคนิคพิเศษอย่างอลังการยิ่งกว่าในทุกภาคที่ผ่านมา แต่โดยภาพรวมแล้ว ในความเห็นของผม นี่เป็นแค่เพียงหนังที่"น่าเบื่อมั่กๆ"เรื่องหนึ่งเท่านั้น
ดูเหมือนว่าจอร์จ ลูคัส ให้ความสำคัญกับฉากเทคนิคพิเศษต่างๆ จนทำให้หนังขาดเสน่ห์ไปในส่วนของวิธีการเล่าเรื่อง ทั้งที่ประเด็นหลัก คือ การถูกครอบงำเข้าสู่ด้านมืดของ อนาคิน สกายวอล์คเกอร์นั้น มีความเป็นดราม่าอยู่สูงมาก เป็นเรื่องสะเทือนอารมณ์ที่น่าใส่ใจ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ความยากของไตรภาคแรกแห่งสงครามอวกาศ จึงอยู่ที่การสรุปปมสำคัญในตอนท้ายของ Episode III นี้เอง เพราะสาวกสตาร์วอร์ทุกคน ล้วนทราบดีอยู่แล้วว่า สักวันหนึ่ง อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ จะต้องพ่ายแพ้แก่"ใจ"ของตัวเอง และเดินหน้าเข้าสู่ด้านมืด แพดเม่ต้องตาย ก่อนให้กำเนิด ลุค สกายวอล์คเกอร์ และเจ้าหญิงเลอา ออร์กาน่า

จอร์จ ลูคัส เคยทำให้ผมรู้สึกถึง"พลัง"แห่งความดีงาม ที่ปรากฏอยู่ในแทบทุกลมหายใจของลุค สกายวอล์คเกอร์
ผมอยาก"รู้สึก"ไปกับ"ด้านมืด" อยากเสียใจ อยากรับรู้ความเจ็บปวด อยากรู้ว่าเหตุใด เด็กน้อยคนหนึ่งที่ได้รับการดูแลอบรมมาอย่างดีจึงต้องเลิกศรัทธาในคุณงามความดี ซึ่งในแง่ของการกำกับการแสดง ผมคิดว่า Revenge of the Sith ทำได้ไม่ถึงจุดที่น่าประทับใจเอาซะเลย

บางที ผมอาจจะคาดหวังในเชิงของ ความรู้สึก ความเจ็บปวด ความเปลี่ยนแปลง ที่มีต่อตัวละครอย่างอนาคิน สกายวอล์คเกอร์ มากเกินไป ..

บางที จอร์จ ลูคัส อาจคิดไม่เหมือนเรา ... บางที ... บางที ... บางที ...

ผมจึงได้แต่ทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลง และการเกิดขึ้นของดาร์ท เวเดอร์เอาจากสคริปต์ และภาพบนจอ แล้วจินตนาการถึงความรู้สึกต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นเอาเอง... อ่ะนะ

อย่างไรก็ตาม ในฉากสุดท้ายของ Revenge of the Sith ...พระอาทิตย์สองดวงทะยอยลับขอบฟ้าแห่งทะเลทรายบนดาวทาทูอีน กลับทำให้ผมย้อนรำลึกถึงวันเวลาและบรรยากาศเก่าๆของ Star Wars : The New Beginning อย่างช่วยไม่ได้

วันเวลาร่วมยี่สิบกว่าปี กับภาพยนตร์นับร้อยๆเรื่อง เทคนิคและชั้นเชิงการเล่าเรื่องสารพัดรูปแบบที่แตกต่างออกไปต่างหาก ที่ทำให้ผมรู้สึกห่างเหินกับเพื่อนเก่าอย่าง Star Wars

ว่างๆ ผมคงหาโอกาสหา Star Wars ไตรภาคที่ 2 กลับมาดูอีกครั้ง เพื่อระลึกถึงบรรยากาศตำนานแห่งสงครามอวกาศสุดคลาสสิค ผมชอบวิธีการเล่าเรื่องแบบซื่อๆ ไม่มีชั้นเชิงแพรวพราว หากแต่"จริงใจอย่างยิ่ง"ของเจไดอย่าง George Lucas และอยากกลับไปรำลึกถึงความประทับใจแบบซื่อๆและจริงใจอย่างนั้นอีกครั้ง

May the Force be with You !

Tuesday, May 17, 2005

Survivor Palau


จบลงไปแล้ว ด้วยความสนุกสนานพอสมควร สำหรับ Reality Show ต้นตำรับที่ฮิตระเบิดเถิดเทิงมาตั้งแต่ฤดูกาลแรก

ผมติดตามดู Survivor มาตั้งแต่ปีแรก จะขาดไปก็ตรงฤดูกาลที่ 4 Survivor Marquesas ที่ยูบีซีไม่ได้นำมาออกอากาศ จำได้ว่าช่อง 9 เคยเอามาแพร่ภาพอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่ติดตามดู เป็นเพราะช่วงเวลาออกอากาศไม่ตรงกับเวลาว่าง หรือกระไรก็จำไม่ได้

คงปฏิเสธไม่ได้ ว่าเสน่ห์ของ Survivor อยู่ที่รูปแบบของรายการ ที่จำลองมาจากนวนิยายขายดี เรื่อง Lord of the Flies ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเอาตัวรอดของเด็กๆกลุ่มหนึ่งที่ติดอยู่บนเกาะร้าง
แต่เมื่อมาเป็น Reality TV Show นอกเหนือจากการเอาตัวรอดจากสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ทีมงานของโปรดิวเซอร์ Mark Burnett ก็ได้เพิ่มเติมการแข่งขันเพื่อชิงรางวัลประจำสัปดาห์ และการแข่งขันเพื่อชิงสิทธิ์ป้องกันตัว (Immunity Challenge) เพื่อป้องกันไม่ให้ทีม หรือ ตัวผู้เข้าแข่งขันเอง ต้องถูกโหวตออกจากการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์

Survivor วางสโลแกนของผู้ชนะประจำรายการว่าจะต้อง Outwit Outplay Outlast
ความน่าสนใจของรายการ อยู่ที่ความสามารถในการตามบันทึกภาพ/เหตุการณ์ต่างๆ การใช้มุมกล้อง และการตัดต่อ ส่วนสีสันต่างๆนานา นั้นอยู่ที่ผู้เข้าแข่งขันในแต่ละฤดูกาลโดยตรง

สำหรับ Survivor ปีแรก จะเรียกว่าเป็นที่น่าเสียดาย หรือเป็น Gold Standard ให้แก้ผู้เข้าแข่งขันในปีต่อๆมาก็คงได้ ที่มีผู้แข่งขันชื่อ Richard Hatch
เพราะด้วยประสบการณ์ชีวิตอันโชกโชน และไหวพริบในการเจรจา Hatch เป็นผู้แข่งขันคนแรกที่นำเอากลยุทธ Alliance - พันธมิตร มาใช้ และที่สำคัญ มันประสบความสำเร็จ !
Richard Hatch สามารถกวาดเงินล้านดอลลาร์ไปได้ และสร้างนิยามของคำว่า Outplay ขึ้นมาในแบบของตัวเอง

ผู้เข้าแข่งขันส่วนใหญ่ใน Survivor ในปีต่อๆมา ก็ล้วนเดินตามแนวทางการสร้างพันธมิตร แบบที่ Hatch ได้วางเอาไว้ ผู้ชนะรายการนี้ในบางฤดูกาล จึงเป็นแค่ใครบางคนที่เก่งในการเกาะไปกับคนที่มีอำนาจในกลุ่ม รักษาเนื้อรักษาตัวไม่ให้มีคนชิงชังมาก พอให้เอาตัวรอดเข้าไปได้ถึงรอบลึกๆ จับพลัดจับผลูอาจคว้าเงินล้านไปได้ ท่ามกลางบรรยากาศที่เจืออยู่ด้วยความหมั่นไส้ปนริษยา ด้วยเหตุผลที่ยากแก่การยอมรับ(เช่นกัน)ของคนดู ว่า "มีคนเกลียด/หมั่นไส้น้อยกว่า"

ผมยังเคยสงสัยอยู่เหมือนกัน ว่า ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันแต่ละราย ไม่เลือกใช้กลยุทธ"พันธมิตร" แล้วใช้ชีวิตกันแบบแฟร์ๆ แข่งขันกันแบบมีสปิริต ไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวก ยอมรับในความสามารถ สปิริต นิสัยใจคอ ของกันและกันอย่างจริงใจ เกมมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร

โดยปกติ เกม Survivor จะทวีความเข้มข้นขึ้นทันทีที่มีผู้เข้าแข่งขันเหลือ 9 คน และมีการรวมเผ่า เพราะมันหมายถึงช่วงเวลาที่คนที่เคยเอ่ยปากผูกมิตรกันเป็นมั่นเหมาะ อาจจะพลิกลิ้น แปรเปลี่ยนไปเป็นอื่น
สภาวการณ์หักหลัง /แทงข้างหลัง/ โกหก เพื่อรักษาสถานภาพของตนเองให้เกาะไปกับกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะไปได้ไกลที่สุดจึงเกิดขึ้นได้ในแทบทุกฉาก ทุกตอน แถมทีมงานตัดต่อ ก็เข้าใจคาดการณ์ถึงธรรมชาติของมนุษย์ เลือกคัดแต่เฉพาะฉากที่เป็น ไม้ขีดไฟ กับ นํ้ามัน ระหว่างผู้เข้าแข่งต่างๆมาให้ได้ดู

เมื่อผู้เข้าแข่งขันเหลือ 5 คน โอกาสที่เกมจะพลิกแบบคาดไม่ถึงก็จะเกิดขึ้นอีก แต่จะมีให้ลุ้นมากขึ้นหน่อย เพราะการแข่งขันช่วงท้ายๆนี้จะวัดกันที่ความสามารถ มากกว่าดวง
และถึงที่สุด คำตัดสินชี้ขาด เลือกผู้ชนะ จะมาจากผู้ร่วมแข่งขัน 7 คน จาก 9 คนสุดท้าย
นั่นหมายถึง การได้รับความยอมรับนับถือจากเพื่อน น่าจะเป็นประเด็นชี้ขาด

Survivor ออกอากาศมาแล้วร่วมๆ 10 ฤดูกาล และผู้ชนะในบางฤดูกาลมีพฤติกรรมการแข่งขันที่น่ารังเกียจพอสมควร หมายถึงว่า มันเป็นชัยชนะที่มาจากการหักหลังเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ คณะลูกขุนต้องจำใจโหวตให้ เพราะในกติกาของเกม ไม่มีระบุการงดออกเสียง
เหตุผลจึงเป็นแค่ เกลียดคนนี้น้อยกว่าอีกคนหนึ่ง
บรรยายได้ง่ายๆ ประมาณว่า ยี้ต่อยี้เจอกันก็บรรลัย ยี้หนึ่งไป ยี้หนึ่งอยู่ คู่ฟ้าดิน

Survivor ฉายภาพการแข่งขัน พละกำลัง การทำงานเป็นทีม มิตรภาพ สัมพันธภาพ การยอมรับ กำลังใจ ความรัก นํ้าใจ ควบคู่ไปกับฉากตอนของความโลภ เห็นแก่ตัว เกรี้ยวกราด โกรธแค้น ลุ่มหลง ความเฉลียวฉลาดในการมองหาโอกาส ปฏิเสธและถูกปฏิเสธ โกหก หักหลัง ความเจ็บปวด ฯลฯ มันจึงเป็น reality show ที่ดูจริงจัง และด้วยความสามารถในการตัดต่อ บางครั้งดูเหมือนเรื่องราวที่เกินขึ้นเป็นการปรุงแต่ง กระทั่งชี้นำ
จนกระทั่ง บางทีเราคนดูทางบ้านก็ต้องเตือนตัวเองไปด้วย ว่า เฮ้ย - ตัดต่อ ...นั่นน่ะ มาจากการตัดต่อ เขาจงใจเสี้ยมเขาโคให้ชนกัน

โดยรวมๆแล้ว Survivor เป็น Reality Show ที่สนุก น่าติดตาม เหมือนดูเกมโชว์ที่ไม่ซํ้าซากจำเจ พร้อมๆไปกับ ทำให้เราได้เห็นพฤติกรรมบางด้านของคน
... จนทำให้เราต้องเตือนตัวเองไว้เสมอ ว่าถ้าเลี่ยงได้ละก็ อย่าได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้อง Outwit Outplay Outlast เลย